การเลี้ยงลูก, วิธี... ทำให้เด็กคิด, เกี่ยวกับ insThink
ช่วยลูกจัดการความกลัวได้อย่างไร
เคยไหมคะเวลาที่ลูกบอกเราว่า “หนูกลัว”
แต่เราในฐานะพ่อแม่ก็ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าจะช่วยลูกได้ยังไง
ช่วยลูกจัดการความกลัวได้อย่างไร (Helping your child overcome fears)
เคยไหมคะเวลาที่ลูกบอกเราว่า “หนูกลัว” แต่เราในฐานะพ่อแม่ก็ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าจะช่วยลูกได้ยังไง ตอนอายุ 16 ปี คุณพ่อคุณแม่ส่งครูติ๊กไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ถามว่าตอนนั้นกลัวไหม ก็ต้องยอมรับว่ากลัวมาก ตั้งแต่กลัวการเดินทางไปต่างประเทศคนเดียวเป็นครั้งแรก กลัวการไปโรงเรียน ต้องไปเรียน high school ท่ามกลางเด็กอเมริกัน อยู่ในสังคมที่ไม่คุ้นเคย แต่สิ่งที่กลัวมากที่สุดตอนนั้นคือการต้องเตรียม presentation และออกไปพูดหน้าชั้นเรียนให้คุณครูและเพื่อน ๆ ฟัง ตอนนั้นคิดก่อนเลยว่าจะรอดได้ยังไง ภาษาก็ยังพูดไม่ค่อยได้ นี่จะให้ออกไปพูดหน้าห้องท่ามกลางเด็กอเมริกันเหรอ ขอตายดีกว่า ขนาดตอนอยู่เมืองไทยเวลาต้องพูดหน้าห้องยังไม่กล้าสบตาเพื่อน ๆ ที่เป็นคนฟังเลย แล้วนี่เอาอะไรกับการพูดภาษาที่ไม่คุ้นเคย ขอลาป่วยได้ไหม หรือว่าจะเปลี่ยนวิชาเรียนไปเลย อยากจะ “หนี” ไปจาก “ความกลัว” นั้นมาก หลังจากใช้เวลาคิดกับตัวเองอยู่นานก็ตัดสินใจว่า “ยังไงก็ต้องทำ” และต้องทำให้ดีที่สุดด้วย เพราะเราเป็นเหมือนตัวแทนคนไทยที่จะต้องทำให้คนอื่นรู้ว่า เราทำได้ เด็กไทยเก่ง หลังจากนั้นก็ทุ่มเทเต็มที่กับการทำ presentation เตรียมสคริปต์ ซ้อมพูด จนเอาชนะความกลัวไปได้ และในวันที่ต้องออกไปพูดหน้าชั้น ทั้งคุณครูและเพื่อน ๆ ก็ให้กำลังใจเรา “Good job!”, “Well done!” เขาพูดจริงหรือเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าภูมิใจในตัวเองมากที่เอาชนะความกลัวของตัวเองได้ คุณครูที่อินสติ๊งค์ฯ ได้เห็นเด็ก ๆ ก้าวข้ามความกลัวอยู่ตลอดเวลาในคอร์ส Young Speakers คอร์ส Public Speaking สำหรับน้อง ๆ วัย 9-17 ปี และรู้สึกชื่นชมและภูมิใจทุกครั้งที่เห็นเด็ก ๆ พัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดดจากวันแรก จนถึงวันสุดท้ายที่ขึ้นพูดบนเวทีต่อหน้าคุณครู เพื่อน ๆ และผู้ปกครอง เพราะนอกจากพวกเขาจะพูดได้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถเอาชนะความกลัวของตัวเอง ก้าวขึ้นเวทีและพูดต่อหน้าสาธารณชนด้วยความมั่นใจ วันนี้ครูติ๊กขอเอา ประสบการณ์ส่วนตัวและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเด็ก ๆ มาเล่าสู่กันฟังว่าเราจะช่วยลูกให้เอาชนะความกลัวได้อย่างไร (บทความนี้เน้นเรื่องความกลัวการทำสิ่งใหม่ ๆ สิ่งที่ออกจาก comfort zone ของลูก หรือการก้าวข้ามอุปสรรคบางอย่าง เพื่อทำให้เด็กพัฒนาขึ้น เก่งขึ้น)
1. ฟังลูก
พยายามเข้าถึงความรู้สึกจริง ๆ ของลูกว่าลูกกลัวอะไร เพราะอะไร ให้ลูกเล่าความรู้สึกของเขาให้เราฟัง เราในฐานะพ่อแม่ก็ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าคอยแต่พูดว่า “ไม่เห็นน่ากลัวเลย” “ไม่มีอะไรหรอกลูก” เพราะสำหรับเด็ก ๆ ต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขากลัวหรือไม่กล้า และเราในฐานะพ่อแม่มีหน้าที่ที่จะทำความเข้าใจและเข้าถึงสาเหตุความกลัวของลูกให้ได้ และควรใช้คำพูดอย่าง “แม่เข้าใจว่าลูกกลัว ไม่กล้าที่จะทำเพราะเป็นสิ่งใหม่สำหรับหนู” คุณพ่อคุณแม่อาจจะแชร์ประสบการณ์ ที่เกี่ยวข้องของตัวเองให้ลูกฟัง ก็ได้ค่ะ ว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เคยเจอเหตุการณ์นั้นมาเหมือนกันและผ่านมันมาได้อย่างไร
2. สนับสนุนและให้กำลังใจ
กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมากที่พ่อแม่จะให้กับลูกได้ แค่คำพูดชมเชยก็สามารถเป็นนำ้หล่อเลี้ยงจิตใจ และเป็นกำลังใจให้ลูกทำได้ดีขึ้น “แม่ภูมิใจในตัวลูกมากเลยที่ตั้งใจฝึกซ้อมและทุ่มเทกับการเตรียมตัวมาพูดหน้าชั้นเรียน” ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่รู้แค่ว่าลูกต้องเข้าใจและรับรู้ได้จากเราว่าสิ่งที่เขาทำมันน่าชื่นชม เขามาถูกทางแล้ว และพ่อกับแม่รับรู้ได้และภูมิใจมาก
3. ช่วยสร้าง Can do attitude ให้กับลูก
สิ่งที่ทำให้ครูติ๊กก้าวผ่านความกลัวเรื่องการพูดหน้าชั้นเรียนมาได้ก็เพราะครูติ๊กเชื่อว่า “เราทำได้” ในฐานะพ่อแม่เรามีหน้าที่ปลูกฝังทัศนคติว่า “เราทำได้” ให้กับลูก ๆ ช่วยให้ลูก ๆ มีความพยายาม อย่าย่อท้อต่ออุปสรรคง่าย ๆ สอนให้รู้จักตัวเอง จุดแข็ง และจุดอ่อนคืออะไร ยอมรับมันและปรับปรุงสิ่งที่ต้องพัฒนา ในขณะเดียวกันก็ให้ ความอบอุ่นในครอบครัว ให้ลูก ๆ รู้สึกปลอดภัย วันหลังจะมาเขียนเรื่องการสร้าง Can do attitude และ self esteem ให้อ่านกันเต็ม ๆ นะคะวันนี้ขอแนะนำให้อ่านบทความนี้ไปพลาง ๆ ก่อน
4. เป็นตัวอย่างที่ดี
ลูก ๆ เฝ้ามองเราอยู่ตลอดเวลา แล้วเราจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้อย่างไร ในเรื่องของการเอาชนะความกลัว โดยส่วนตัวคิดว่าเราก็ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าแม่เองก็มีเรื่องที่กลัว แล้วแม่จัดการกับความกลัวอย่างไร ถ้าเราเลือกที่จะยอมแพ้ สิ่งที่เรากลัว เราก็กำลังแสดงให้ลูกเห็นว่าเขาก็ยอมแพ้ได้เช่นกันเพราะฉะนั้นอยาก ให้เริ่มที่ตัวเราก่อนเพื่อจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกค่ะ
5. ปล่อย
ปล่อยให้ลูกได้ออกไปมีประสบการณ์ ได้เผชิญกับโลกกว้างโดยที่พ่อกับแม่ไม่ต้องคอยช่วยเหลือตลอด ปล่อยให้เขาได้ฝึกแก้ปัญหา ฝึกตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยที่พ่อกับแม่คอยมองอยู่ห่าง ๆ คอยให้คำแนะนำแต่อย่าบอก อย่าให้คำตอบ และทำแทนเขาตลอดเวลา ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้และเสริมสร้างความมั่นใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ลูกเชื่อมั่นว่า เขาทำได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกกลัว ไม่กล้า ไม่มีข้อมูล ขาดประสบการณ์ จนทำให้เขาไม่สามารถตัดสินใจได้ดีพอ หรือเลือกที่จะยอมแพ้ พ่อกับแม่ก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือและ อาจจะต้องฟันธงในบางครั้งว่าอะไรควรทำและต้องทำเราต้องเริ่มปล่อยลูกตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เขาเรียนรู้ เพราะเราเอง ก็ไม่สามารถจะอยู่กับลูกได้ตลอดเวลาและตลอดไป คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนมีประสบการณ์ช่วยลูกก้าวผ่านความกลัวอย่างไรสามารถนำมาแบ่งปันกันได้นะคะ
อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง – สถาบันส่งเสริมทักษะการคิดและการพูดสำหรับเด็ก
ลงทะเบียนทดลองเรียนฟรีได้ที่ h
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 084 515 4151