การเลี้ยงลูก
พาลูกเที่ยวลอนดอน ตอนที่ 2
ตอนที่ 2: ทำพาสปอร์ต เตรียมบิน และหาที่พัก
หลังจากที่ติ๊กได้แชร์เรื่องการเตรียมตัวพาลูกเที่ยวต่างประเทศ ตอนที่ 1: มาเริ่มเตรียมของและเตรียมใจให้พร้อมกันเถอะ ไปแล้วก็ขอมาเล่าต่อในตอนที่ 2 เรื่องการทำพาสปอร์ต, เลือกสายการบินและจองที่พัก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะเราบินค่อนข้างนาน (11-12 ชั่วโมง) และเราก็ไปอยู่ที่ลอนดอนนานด้วยค่ะ ขอท้าวความย้อนหลังว่ารอบนี้เราพานัทชา วัย 1 ขวบถ้วนขึ้นเครื่องบินครั้งแรกไปลอนดอนเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ติ๊กไปเรียน 2 สัปดาห์เต็ม ๆ ช่วงนั้นพ่อเป็กก็เลี้ยงลูกเป็นหลักคนเดียว เวลาที่เหลือหลังจากเรียนจบก็พาตัวป่วนไปเที่ยวลอนดอนค่ะ ขอเริ่มเล่าที่การทำ Passport กันเลย
การทำ Passport สำหรับเด็กเล็ก
เป็นสิ่งที่น่ารักและน่าจดจำอีกอย่างนึงค่ะ (ต่อให้ยังไม่ได้ไปไหน ไปทำเพื่อเก็บไว้ดูก็น่ารักดีนะคะ) เด็กเล็กสามารถทำ passport ได้ตั้งแต่แรกเกิดเลย เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังว่าเด็กเล็กสุดที่เคยมีคนพามาทำ passport คืออายุ 7 วัน!!! ส่วนเอกสารที่ต้องเตรียมไปทำมีดังนี้: สูติบัตรฉบับจริง, สำเนาทะเบียนบ้าน, บัตรประชาชนตัวจริงของพ่อและแม่, ใบจดทะเบียนสมรส เอกสารพร้อม! คนพร้อม! ก็ไปทำ passport กัน ในมุมมองของเรากงสุล เป็นสถานที่ราชการที่มีการจัดการได้ดีมาก ยังไงแนะนำให้ไปแต่เช้าที่สุดยิ่งดีค่ะ เจ้าหน้าที่ดูแลและให้บริการเป็นอย่างดี พอไปถึงยื่นเอกสาร และพาเจ้าตัวน้อยไปวัดส่วนสูงด้วยสายวัดเอว จากนั้นก็เข้าไปจุดถ่ายรูป เอาล่ะซิ ลูกเราหน้าหนักเป็นเสือยิ้มยากซะด้วย เจ้าหน้าที่หลายคนมาช่วยเรียกร้องความสนใจให้ลูกยิ้ม พอถ่ายรูปแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เราดูรูปว่าโอเคไหม ถ้าไม่ ก็ถ่ายใหม่ แต่ไม่สามารถกลับมาเลือกรูปเดิมได้แล้ว เราถ่ายไปประมาณ 5 รอบได้ แหะ ๆ แต่สุดท้ายภาพแรกดีสุด… ตึ๊ง! จากนั้นแทนที่จะเซ็นชื่อ ก็ใช้ปั๊มลายนิ้วมือแทน ทางกงสุลยังคงให้ใช้หมึกปั๊มแบบตรายางปั๊ม ทำให้ติดมือลูกพอสมควร เตรียมผ้าเปียกไปรีบเช็ดด้วยนะคะ อาจจะใช้เวลานานหน่อยในการล้างออก แต่ก็ดูไม่มีปัญหาอะไรกับลูกเรียบร้อยจ่ายเงิน 1,000 บาท พร้อม 40 บาทค่าส่ง เป็นอันเสร็จ วันที่ได้ passport มา ขำกันทั้งบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่น่ารักมาก ทั้งภาพและลายนิ้วมือ เป็นของที่ระลึกวัยทารกของลูกอีกหนึ่งชิ้น ลองดูค่ะ
เตรียมบิน
ตั๋วเครื่องบินเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะจองตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะจะได้เลือกที่นั่งที่ดีที่สุด เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 24 เดือนจะถือว่าเป็น Infant ต้องนั่งตักคุณพ่อหรือคุณแม่ สามารถขอ baby bassinet ได้ (ขึ้นอยู่กับที่นั่งว่ามีที่สำหรับ bassinet หรือเปล่าด้วยนะคะ) แต่ต้องเช็คให้ดีว่าขนาดกว้าง x ยาวเท่าไหร่ เพราะของแต่ละสายการบินจะไม่เท่ากันค่ะ เราบินการบินไทยซึ่ง bassinet นั้นสามารถนอนได้ถึงเด็กอายุ 6 เดือน เราเลยไม่ได้ขอ ถึงแม้เราไม่ได้ซื้อที่นั่งต่างหากให้กับลูก ยังไงก็จะมีค่าตั๋วสำหรับ infant ด้วย เตรียม budget เผื่อไว้นิดนึงด้วยนะคะ ติ๊กหาข้อมูลเรื่องสายการบินใน http://www.flyingwithababy.com ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะทีเดียวค่ะ
ที่นั่ง แนะนำว่ายังไงก็ควรจะเลือกที่นั่งติดกันนะคะ แถวหน้าสุดได้เป็นดี จะได้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น อย่าลืมแจ้งคนที่เราซื้อตั๋วด้วยนะคะ ว่าเราเดินทางกับเด็กอ่อน ถ้าบิน Business class ก็ยังควรจะเลือกที่นั่งติดกัน จะได้ส่งลูกไปมาระหว่างที่นั่งได้ง่าย ๆ ควรเลี่ยงที่นั่งใกล้ห้องน้ำเพราะเสียงจะดังและพลุกพล่าน พวกเราพลาดเพราะจองตั๋วช้า ถึงแม้จะได้ที่นั่งติดกัน แต่ดันอยู่ติดห้องน้ำ ลูกเลยตื่นบ่อยเพราะเสียงชักโครกค่อนข้างดัง 🙁 ดูข้อมูลเรื่องที่นั่งได้ที่ https://www.seatguru.com จะสามารถใส่รายละเอียดไฟลท์ของเราเพื่อดูที่นั่งที่ดีและที่นั่งที่ควรเลี่ยงได้ค่ะ
อาหารการกินบนเครื่อง สามารถแจ้งสายการบินให้เตรียมอาหารให้ลูกได้ โดยระบุอายุของเด็ก และอาหารที่แพ้ หรืออาจจะเตรียมอาหารไปเองได้เช่นกันค่ะ เราเลือกเตรียมอาหารสำเร็จรูปไปเอง และกวนให้พนักงานบริการ บนเครื่องเตรียมใส่ชามและอุ่นให้ ขนมขบเคี้ยวเตรียมไปนิดหน่อยก็ดีค่ะ เผื่อเวลาเครื่องขึ้นเครื่องลงลูกไม่ยอมดูดนม ก็ป้อนขนมให้เคี้ยวเพลิน ๆ ได้ หูจะได้ไม่อื้อ น้ำเตรียมไปเองได้เลยค่ะ ที่ Security Check ไม่ว่าอะไรถ้าเป็นน้ำของน้อง
เอาลูกนอนบนเครื่องอย่างไร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ติ๊กกังวลมากก่อนไป พอปรึกษาสามีก็ได้คำตอบแบบไร้กังวลว่า “ขึ้นเครื่องแล้วก็รู้เองแหละ” เอ่อ… ก็ได้ เรื่องเอาลูกนอนคงแล้วแต่ความถนัดของแต่ละบ้าน ของเราลูกนอนกับแม่ค่ะ ลูกนอนคว่ำแผ่หลาสบายมาก ทำให้เหลือที่ให้แม่นอนเพียงน้อยนิด แม่เลยนอนตะแคงตลอดเวลา เมื่อยนิดหน่อยค่ะ แต่ลูกหลับสบาย ไม่ร้องไห้งอแงเราก็โอเค มีบางช่วงเหมือนกันที่ลูกนอนหลับบนตัวแม่ค่ะ แนะนำว่าก่อนเอาลูกนอน ให้เข้าห้องนำ้ให้เรียบร้อยก่อน เผื่อขยับตัวได้ยากเวลาลูกหลับแล้ว 🙂
เวลาบิน เราเลือกบินกลางคืน และเลือก direct flight เพราะหวังว่าจะให้ลูกนอนและไม่อยากต้องแบกของขึ้นลงเครื่อง ผ่าน security check หลายรอบ พอไปถึงลอนดอนก็เป็นตอนเช้าพอดี ซึ่งก็เป็นไปตามที่วางแผนไว้ นัทชานอนบนเครื่องได้ค่อนข้างดี ขาไปแอบตื่นบ่อยนิดนึงเพราะที่นั่งใกล้ห้องน้ำ แต่ขากลับนอนได้ค่อนข้างดีเลยค่ะ ทำให้ถึงเราจะบินนาน แต่ลูกหลับไป 70-80% ของเวลาบิน ทำให้เวลาผ่านไปค่อนข้างเร็ว ตอนตื่นก็อารมณ์ดีเพราะ ได้พักผ่อนมาเต็มที่ ส่วนเวลาที่ตื่นก็นั่งเล่นของเล่นที่เตรียมไป เล่นจ๊ะเอ๋กับผู้โดยสารท่านอื่นบ้าง 55 พาเดินเล่น อุ้มเดินเล่น ทักทายคนนู้นคนนี้ การที่ลูกนอนบนเครื่องได้ดีทำให้เราไม่เหนื่อยจนเกินไป
ลูกร้องบนเครื่องทำอย่างไร ขาไปจากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน แทบไม่มีงอแงเลย ประทับใจมาก 🙂 แต่ขากลับนี่ซิ กลางดึกระหว่างที่ทุกคนหลับ ลูกก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาและปล่อยโฮสุดเสียง เอาหล่ะซิ! สิ่งสำคัญที่สุดในจังหวะนั้นคือ อย่าเพิ่งสนใจคนอื่น เพราะถ้ามัวกังวัลว่าจะทำให้คนอื่นรำคาญ เราจะยิ่งเครียดมากขึ้น ถ้าลูกงอแงให้สนใจลูกเราเป็นอันดับแรก พยายามหาสาเหตุว่าลูกเป็นอะไร ทำไมถึงร้องไห้ และเบี่ยงเบนความสนใจลูก (เอาจริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่คนที่เดินทางบนเครื่องพร้อมเราโดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อแม่ เค้าเข้าใจนะคะ) พ่อและแม่ต้องเป็นทีมเดียวกันช่วยกันจัดการสถานการณ์ ชั่วโมงนั้นยังไงก็เครียดทั้งคู่ ช่วงที่ลูกเราร้องไห้ตอนกลางดึก คนก็เริ่มตื่น และนี่คือสิ่งที่เราทำค่ะ
- ประเคนของทุกอย่างที่ลูกชอบให้ค่ะ น้ำ, ขนม, เข้าเต้า, ของเล่นทั้งที่มีเสียงและมีแสง, ขวดน้ำหรือถุงพลาสติก(นัทชาชอบเล่นขวดน้ำกับถุงพลาสติกค่ะ ลูกคนอื่นเป็นไม๊) ฉะนั้นเตรียมเผื่อไว้ให้ใกล้ ๆ มือ
- พาลูกเดินเล่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ไปทักทายแอร์ ไปดูส่วนนู้นส่วนนี้ของเครื่องบินเล่นและยิ้มให้ลูก ร้องเพลง ขย่มตัว อย่าให้อยู่นิ่งคะ ทำบรรยากาศให้สนุก ๆ แม้ในใจจะเกรงใจคนอื่นอย่างมากก็ตามที — เรียบร้อยลูกเราร้องไปประมาณ 5 นาที (แต่ความรู้สึกเหมือนชั่วโมงนึงเลย) และสงบด้วยขวดน้ำจากแอร์ที่น่ารัก และต้องขอบคุณผู้โดยสารอีกท่านนึง เดินมาถามว่า “น้องเป็นอะไรหรือเปล่า มีมหาหิงค์ไหมเพราะว่าลูกเค้าใช้มหาหิงค์แล้วได้ผลดี” คนเป็นพ่อแม่คนเค้าเข้าใจเราค่ะ ว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้! 🙂 ต่อไปนี้เวลาขึ้นเครื่อง ลูกร้องไม่กลัว กลัวไม่ร้อง แต่ขอว่าอย่าร้องเลยนะลูก! 55
เลือกที่พักอย่างไรถึงจะเหมาะสม
เรื่องที่พักเป็นอะไรที่ใช้เวลานานมากกว่าจะหาเจอตามที่เราต้องการ ความที่เราไม่ได้ไปเที่ยวเป็นหลัก ครูเป็กและนัทชาใช้เวลาช่วงกลางวันอยู่ที่ที่พักค่อนข้างมาก และเราอยู่ค่อนข้างนาน ปัจจัยในการเลือกที่พักของเราเลยเยอะหน่อยค่ะ (ปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่กับลักษณะทริปของแต่ละบ้านด้วยนะคะ ถ้าไม่ได้ไปอยู่นาน และไม่ค่อยได้อยู่ในที่พัก เรื่องความกว้างของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในที่พักต่าง ๆ ก็อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญมากนักค่ะ)
- มีพื้นที่ให้ลูกเล่น และดูปลอดภัยสำหรับลูก
- สามารถจัดเตียงนอนเด็ก (crib) ให้ได้
- มีพื้นที่ให้เราแยกห้องนอนกับลูกได้ เพราะเราแยกห้องนอนกับลูกแล้ว
- มีครัว เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า – ไม่งั้นคงต้องเตรียมกระเป๋าไป 8 ใบ
- เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก
- อยู่ในย่านที่เสียงไม่ดัง แต่ก็ต้องมีร้านอาหารและซูเปอร์มาเก็ต หรือ grocery store ให้จับจ่ายซื้อของได้สะดวก
- ราคาไม่ทำให้กระเป๋าฉีก
- มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลา check in – check out
- ใกล้สวนสาธารณะ (optional อันนี้เป็นความอยากส่วนตัว นัทชาชอบต้นไม้ เลยอยากให้ลูกได้ไปเห็นพื้นที่สีเขียวเยอะ ๆ )
เรื่องเยอะไม๊คะ แหะ แหะ ถ้าดูปัจจัยเหล่านี้ก็จะตัดออกไปได้หลายตัวเลือกอยู่ค่ะ โรงแรมตัดไปเพราะพื้นที่มักไม่กว้างโดยเฉพาะที่ลอนดอน นอกจากจะจองห้อง Suite ซึ่งก็อาจทำให้กระเป๋าฉีกได้ หลังจากใช้เวลาหาที่พักมาเป็นเดือนก็มาลงตัวที่ apartment (Flat) ที่จองผ่าน www.airbnb.com แถว Notting Hill พื้นที่กว้างขวาง ราคาเทียบแล้วถูกกว่าโรงแรม 3 ดาว มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างที่ต้องการ อยู่ใน Residential area แต่ก็ใกล้ร้านอาหาร ร้านขายของชำมากมาย เดินไปขึ้น Underground และ รถเมล์ได้สะดวก สามารถเดินไป Kensington garden ได้ เจ้าของบ้านใจดีซื้อ crib ใหม่มาเตรียมให้นัทชา และอนุญาติให้เรา check in และ check out นอกเวลาที่กำหนดได้ ลงตัวมาก ๆ 🙂 แต่ต้องทำใจอย่างนึงนะคะว่า Airbnb ไม่ใช่โรงแรมจะไม่มีคนมาทำความสะอาดและเตรียมอาหารเช้าให้ค่ะ
เรื่องที่พักแนะนำให้เริ่มหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จากหลาย ๆ website และอ่าน review ให้เยอะ ๆ ค่ะ กว่าที่ติ๊กจะเจอที่นี่ก็ตาแฉะกับการนั่งหาที่พักที่ตรงกับความต้องการของเรา แต่สุดท้ายแล้วก็คุ้มค่าเวลาค่ะ เราดูตั้งแต่ booking.com, agoda.com, และ expedia.com แต่สุดท้ายก็มาเลือก airbnb.com ถ้าใช้ Airbnb ก็ควรจะคุยและตกลงกับ host ให้เรียบร้อยถ้าเรามีข้อจำกัดหรือมีความต้องการพิเศษอะไร ควรเช็คด้วยนะคะว่าเค้า charge ค่าที่พักของเด็กหรือเปล่า ติ๊กติดต่อหลายที่ก่อนตัดสินใจ บางที่ charge ราคาของเด็กด้วย (แม้จะ 1 ขวบก็ตาม) บางที่ไม่ charge ค่ะ
แค่เรื่องการเตรียมตัวก็เขียนมาซะยาวเหยียดแล้ว อย่าพึ่งเหนื่อยกันนะคะคุณพ่อคุณแม่ มีตัวป่วนไปด้วยการเตรียมการก็ต้องเยอะกว่าเดิมเป็นธรรมดา แต่ถ้าผ่านรอบแรกมาได้แล้ว รอบต่อ ๆ ไปก็ไม่หวั่นแล้วหล่ะค่ะ 🙂
คราวหน้าจะมาเล่าในตอนที่ 3 ว่าการใช้ชีวิตที่ลอนดอนเป็นอย่างไร เราพาตัวป่วนไปเที่ยวเล่นที่ไหนบ้าง เร็ว ๆ นี้ค่ะ
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ หรือ โทร 084 515 4151