การเลี้ยงลูก
มาอ่านหนังสือให้ลูกฟังกันเถอะ!
ข่าวดี! อ่านหนังสือให้ลูกทารกฟัง มีประโยชน์มากกว่าที่คิด!
ลูกยังอ่านหนังสือไม่ออก ต้องอ่านหนังสือให้ฟังแล้วหรือ แล้วถ้าอยากจะอ่าน จะเริ่มได้เมื่อไหร่ คำตอบคือ ไม่อ่านแล้วจะเสียใจ!!!
จากการวิจัยของ Center of Early Literacy Learning (CELL) การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เค้ายังเป็นทารกนั้น มีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด มีอะไรบ้างไปดูกัน
-
พัฒนาการเด็กเล็ก
ถึงแม้ลูกจะยังไม่สามารถอ่านได้ แต่เค้าเรียนรู้ได้อย่างมหาศาลจากภาพและโทนเสียง จากการวิจัยด้วย MRI ทำให้เห็นการพัฒนาการของสมองที่ดี เมื่อเด็กมองตามหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง นอกจากนี้ขณะที่ลูกเรากำลังตั้งใจฟัง แน่นอนครับ เค้าจะอยากจับ, เปิด, ชี้, อม และฉีกหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ นี่เป็นการพัฒนาด้าน Motor skills ที่ดีเยี่ยมไปด้วย
-
สร้างสายสัมพันธ์
– จะฟินแค่ไหนในการฟังพ่อแม่อ่านหนังสือน่ารัก ๆ ที่สนุกและตลกเกี่ยวกับตดและอึก่อนจะไปนอน การอ่านหนังสือกับลูกนั้น จะสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นอยู่แล้วให้แน่นมากขึ้นอีก ลองทำเป็นกิจวัตรว่านี่เป็นสิ่งที่เราจะทำกับลูกก่อนนอนในทุก ๆ วันดูนะครับ
-
สร้างบรรยากาศที่สงบก่อนนอน
– การเอาลูกเล็กนอนเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่หลาย ๆ บ้าน ดังนั้นกิจกรรมช่วงหัวค่ำจะเป็นสิ่งที่จะต้องเลือกสรรมาเป็นอย่างดี การเล่นเกมส์ต่อสู้ที่สุดมันส์หรือดูละครที่สุดแสนจะสนุก อาจจะสร้างความตื่นตัวให้กับเด็ก ทำให้นอนยากขึ้นไปด้วย การอ่านหนังสือพร้อมกับเปิดไฟที่สว่างพอควรแต่ไม่สว่างจนเกินไป จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่สงบทำให้การพาเค้าไปนอนนั้นเป็นไปได้อย่างสบายขึ้น
ประโยชน์พอจะเข้าใจแล้ว แล้วจะเริ่มอ่านอะไร อ่านอย่างไรให้เค้าฟังหล่ะ เค้ายังไม่รู้เรื่องซะหน่อย
จากประสบการณ์โดยตรงของครูเป็ก ผมเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เค้าอายุ 5 เดือน ตอนแรกลูกก็ไม่สนใจเราหรอก ก็ต้องแอ๊คติ้งเรียกความสนใจจากเจ้าตัวน้อย ตอนนี้ทุก ๆ ครั้งที่ผมหยิบหนังสือขึ้นมา ลูกจะขยับตัวเข้ามาหาเราเพื่อมาฟังสิ่งที่เราจะอ่านให้ฟัง ตอนที่ลูกพอได้ซัก 10 เดือน เจ้าตัวน้อยก็เริ่มที่จะเลือกหนังสือที่เค้าชอบมาให้เราอ่าน (อ่าน 3 เล่มโปรดทุกวัน) อ่านซ้ำไปซ้ำมา อ่านจนเราเบื่อ อ่านจนปิดตาอ่านได้ แต่พอเห็นสายตาที่อ้อนวอนขอให้เราอ่านต่อไป ก็ต้องอ่านซ้ำอยู่อย่างนั้น เพราะลูกมีความสุข และใครจะไปรู้ ลูกอาจจะกลายเป็นเด็กรักการอ่านไปเลยก็เป็นได้ 🙂
วันนี้ผมอยากมาแชร์ให้ฟังว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากการอ่านหนังสือให้ลูกฟังบ้างพร้อมเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ
-
จะเริ่มอ่านหนังสืออย่างไรดี
- อ่านหนังสือกับลูก 5-7 วันต่อสัปดาห์
- พ่อแม่สลับกันอ่านหนังสือ เพื่อสร้างบรรยากาศที่แตกต่างกันของโทนเสียง
- ทำเสียงที่สมจริงหรือประหลาดเวลาอ่านหนังสือ เพื่อสร้างสีสัน เช่น เสียงสัตว์หรือเสียงรถไฟ
- ไม่จำเป็นต้องอ่านตามเนื้อเรื่องตลอดเวลา เติมแต่งหรือเล่าเสริมได้นะครับ
- อ่านหนังสือเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น – สิ่งที่ผมทำคือปล่อยให้ลูกเล่นในคอกของเขา แล้วเราก็อ่านหนังสือของเราอยู่ใกล้ ๆ
- เตรียมอุปกรณ์การซ่อมหนังสือขาดให้พร้อม เพราะว่าลูกฉีกแน่นอน ถึงเราจะเสียดายหนังสือแค่ไหน แต่ถ้าเพื่อพัฒนาการของลูก ฉีกกี่ที ผมก็นั่งปะนั่งซ่อมอยู่เรื่อยไป (ดูได้จากรูปด้านล่างว่าหนังสือเราเยินแค่ไหน 55)
-
การอ่านเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่แย่ซะหน่อย
– เด็กจะเรียนรู้จากการจำภาพและฟังโทนเสียง เค้าจะสามารถจำคำและเหตุการณ์ในหนังสือได้ ตัวอย่างเช่น ในนิทานเล่มโปรดของลูกผม “ต่อทางรถไฟยาวไกล” จะมีหน้าที่เป็นเด็กเล่นรถไฟเหาะ ลูกวัย 1 ขวบจะทำท่าเดียวกับเด็ก ๆ ในหนังสือเวลาที่เราเปิดหน้านั้นทุกครั้ง เป็นสิ่งที่น่ารักมาก เหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นกับหนังสือ Inside Out – Fear อีกเล่ม พอเค้าเจอประโยคที่ว่า “Sip a cup of tea” เค้าก็จะทำเสียง อ้า!! ทุกครั้งไป นอกจากการอ่านปกติซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็สามารถสอดแทรกการสอนในมุมที่แตกต่างเข้าไป เช่น ให้เค้าชี้สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพ โดยที่ไม่ต้องตามเนื้อเรื่องแบบเดิมซะทั้งหมด ลูกก็จะสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ได้ ตอนนี้เค้าสามารถชี้นก, แมว, หรือกระต่ายได้อย่างแม่นยำ ซู้ดยวอด…
-
อ่านในสิ่งที่พ่อแม่สนใจ
– วันดีคืนดีลองเอาสิ่งที่พ่อแม่สนใจมาอ่านให้เค้าฟังดูบ้างเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ แต่แน่นอนสิ่งที่เราจะเอามาอ่านนั้น อย่าลืมว่าให้มีภาพประกอบด้วยจะดีที่สุด เช่นการอ่านข่าวกีฬา หรือ การประกาศ iPhone ใหม่ ตอนนี้ผมกำลังอ่าน Miss Peregrine’s Peculiar Children เจ้าตัวน้อยก็ดูสนใจหนังสือเล่มนี้ทั้ง ๆ ที่หน้าปกก็สุดแสนจะน่ากลัว (แต่สนุกดี) ผมก็เอาภาพในหนังสือมาเล่าให้เค้าฟัง เพลินไปอีกแบบ
-
เลือกหนังสือมาอ่าน
– แต่ละคนจะชอบไม่เหมือนกัน ทีนี้จะเลือกหนังสืออย่างไรดีนะ ครอบครัวของพวกเราเลือกหนังสือที่มีภาพที่กว้าง คือมีทั้งตัวละครหลักของนิทาน และมีภาพด้านหลังที่ละเอียด อย่างนิทานแปลของญี่ปุ่นจะเก็บรายละเอียดเรื่องพวกนี้ได้ดีมาก อย่างเช่น ต่อทางรถไฟ, ต่อทางรถไฟยาวไกล, ยักษ์อุฮิอะฮะ, หรืองานแรกของมี่จัง และจะมองหาหนังสือที่มีคำคล้องจอง อย่างเช่น Dr. Suess’s Hop on Pop, Inside Out Box of Mixed Emotions หรือ จระเข้น้อยขี้แย
-
อ่านตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง
– เวลาอ่านก็อ่านตั้งแต่ปกเลยนะครับ จะได้ใช้หนังสือให้คุ้ม 555 อย่างเช่น เวลาอ่านนิทาน “ต่อทางรถไฟ” ทุกครั้งที่เราอ่านชื่อผู้เขียน ผู้แปลบนหน้าปก “เรื่อง ฟุมิโกะ ทาเคชิตะ ภาพ มาโมรุ ซูซูกิ แปล วาดดาว วิสาสะ” จะเรียกเสียงหัวเราะจากลูกของเราได้เสมอ (มันตลกยังไง ผมก็ยังไม่เข้าใจ แต่ลูกขำ เราก็โอเค)
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังนั้นเป็นส่ิงที่สนุกกว่าที่เราคิดมากมายและทำให้พ่อ แม่ และลูกผูกพันกันขึ้นทวีคูณ เป็นหนึ่งสิ่งที่เราทั้งคู่ในฐานะพ่อแม่รู้สึกดีมากที่ได้เริ่มอ่านหนังสือให้กับเขา หากคุณพ่อคุณแม่คิดว่า ไม่มีเวลา, ไม่รู้จะอ่านอะไร, เล่านิทานไม่เก่ง, ลูกต้องทำอย่างอื่น, ลูกไม่อยู่กับที่, ลูกฉีกหนังสือ เลยยังไม่ได้เริ่มอ่านหนังสือกับลูก ผมคิดว่าทุกบ้านเจอปัญหาเดียวกันครับ ฉะนั้นเลยอยากให้ลองเริ่มดูก่อน แล้วถ้าไม่ได้ผล ก็หาทางปรับให้เข้ากับลูกเราให้มากที่สุด แล้วอนาคตของลูกจะสดใสแน่นอน ขอให้สนุกกับการอ่านครับ
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ หรือ โทร 084 515 4151