การเลี้ยงลูก
“ปล่อย”เพื่อให้ลูกน้อยเติบโต
ถ้าพ่อแม่คิดไปก่อนว่าลูกทำไม่ได้ก็อาจจะไม่ได้ ให้ลูกลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็กำลังตัดโอกาส ในการให้ลูก ต่อสู้ เรียนรู้ พัฒนาและเติบโต
เรื่องเล่าจากห้องนอนของ
ด.ญ. นัทชา
เมื่อการฝึกให้ลูกนอนเองให้อะไรเรามากกว่าที่คิดไว้ วันนี้เลยขอมาเล่าประสบการณ์ตรงถึงสิ่งที่ครูติ๊กได้เรียนรู้จากการฝึกให้ลูกนอน
ใครมีลูกนอนยาก ยกมือขึ้น
ลูกสาวครูติ๊ก (นัทชา) เป็นเด็กคนนึงที่นอนยากมาก (แอบอิจฉาเพื่อนที่ลูกนอนหลับง่าย ๆ) บางคืนกว่าจะเอานัทชาเข้านอนได้ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมง ไม่ใช่ว่าไม่ง่วงนอน เพราะว่าทั้งกินนมหลับ กล่อมหลับไปแล้วหลายรอบ พออุ้มไปวางที่เตียงของเค้าทีไร ก็ตื่นร้องไห้ทุกที เหมือนมีปุ่มเซ็นเซอร์อะไรบ้างอย่าง หรือบางครั้งยอมหลับต่อ แต่เราดันไปเหยียบพื้นไม้ดังเอี๊ยดขึ้นมา เสียง “แง แง” ก็ดังตามมาทันที บางคืนต้องอุ้มไปกล่อมนอกบ้าน เพราะนัทชาเป็นเด็กที่ชอบอยู่นอกบ้านร้อน ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยยุงและแมลงนานาชนิดพอกล่อมหลับซักพัก ก็อุ้มเข้าบ้าน แต่แค่ก้าวเท้าเข้าประตูบ้านเท่านั้นหละ รู้สึกตัวตื่นทันที! อะไรจะความรู้สึกไวขนาดนั้นคะลูก เป็นอย่างนี้อยู่ทุกคืนจนหลาย ๆ ครั้งแม่และพ่อแสนจะเพลีย พอนัทชาครบ 4 เดือน การเอาเข้านอนก็ยิ่งยากขึ้น วิธีเอาเข้านอนแบบเดิมใช้ไม่ได้ผล เราเลยตัดสินใจว่า ไม่ไหวละ คงต้องให้ดูดนม หลับและก็มีหลายครั้งที่เรา 3 คนพ่อแม่ลูกนอนหลับไปบนเตียงเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากจะหลีกเลี่ยงมาตลอด เพราะกลัวเรื่องอุบัติเหตุกดทับเด็กอ่อน เราตั้งใจไว้แล้วว่าจะให้ลูกนอนเตียงของตัวเอง คืนที่ลูกนอนหลับไปกับเราบนเตียง ไม่มีใครนอนหลับสนิท พ่อก็นอนไม่หลับ เพราะกลัวกลิ้งไปทับหรือเหวี่ยงขาท่อนซุงไปทับลูก นัทชาพอได้กลิ่นแม่อยู่ใกล้ ๆ ก็ตื่นขึ้นมาขอกินนมบ่อยมาก ทำให้แม่แทบไม่ได้นอนไปด้วย และมีหลายครั้งทีพอนัทชาดูดนมหลับก็จะตื่นมาร้องไห้ปวดท้อง เพราะไม่ได้เรอ การให้ลูกดูดนมหลับดูเหมือนจะไม่ใช่ทางออกสำหรับครอบครัวเรา
แล้วทางออกสำหรับพ่อแม่มือใหม่อย่างเราคืออะไร
Google สิคะ
คำตอบที่ได้ก็คือ
ฝึกให้ลูกนอนเอง (Sleep Training) แม่ก็เลยเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ซึ้อหนังสือมาอ่านอย่างละเอียด ทุกบรรทัด ทุกหน้า จริงจังมาก พออ่านวิธีฝึกในช่วงอายุของนัทชา ก็บอกกับตัวเองว่า “นัทชาทำไม่ได้แน่ ๆ ” จะทำได้อย่างไรในเมื่อนอนยากขนาดนี้ และการฝึกลูกนอนเองคือการเอาลูกไปวางบนเตียงแบบยังตื่นอยู่ และให้เขาเรียนรู้ที่จะกล่อมตัวเองจนหลับไป “ตลกละ ลูกชั้นเนี่ยนะ ” แต่ก็ต้องลอง เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร พอนัทชาครบ 5 เดือนทั้งแม่และพ่อเปี่ยมไปด้วยความไม่แน่ใจ แต่ก็ตัดสินใจกันว่าจะให้นัทชาเริ่มฝึกนอนเอง บนเตียงตัวเอง อยู่คนเดียวในห้อง และแล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น คืนแรก… นัทชานอนร้องไห้อยู่ 1 ชั่วโมง 10 นาที และหลับไปด้วยตัวเอง การต้องนั่งฟังลูกร้องไห้เป็นชั่วโมง ๆ มันช่างยาวนาน และทรมานใจคนเป็นพ่อแม่เป็นที่สุด เรานั่งถามตัวเองอยู่ตลอดว่านี่เรากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า แม่และพ่อจะไม่สามารถ ผ่านคืนนั้นมาได้เลยถ้าเราทั้งคู่เห็นไม่ตรงกัน และไม่ได้คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกันพอนัทชาหลับได้เอง เราทั้ง 2 คนดีใจมาก กระโดดตัวลอยและอยากจะตะโกนออกมาดัง ๆ ว่า “สำเร็จแล้ว ลูกเราทำได้! ” คืนที่ 2 นัทชาร้องไห้อยู่ 50 นาทีก่อนจะหลับไปเอง คืนที่ 3 ใช้เวลา 20 นาที คืนที่ 4 นัทชาสามารถนอนเองได้โดยไม่ร้องไห้เลย
แม่คนนี้ภูมิใจมาก
ครูติ๊กภูมิใจในตัวนัทชา หนูน้อยวัย 5 เดือนในขณะนั้นมาก ๆ ที่สามารถนอนเองได้ และที่สำคัญครูติ๊กภูมิใจในตัวเราที่ตัดสินใจ “ลอง ” และ “เชื่อมั่น ” ในตัวนัทชา และดีใจมากที่ในที่สุดก็ได้ดูหนังและดูซีรีส์แบบมาราธอนทุก ๆ คืน (555)
ตอนนี้นัทชาอายุ 11 เดือนแล้ว ครูติ๊กก็ยังคิดว่าการฝึกให้ลูกนอนเองเป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่เราได้ทำให้กับลูก นัทชาเป็นเด็ก ที่มีความสุขมากขึ้น นอนเต็มอิ่มมากขึ้น นอนกลางวันยาวขึ้น และสิ่งที่เราพ่อแม่ได้เรียนรู้ก็คือ การที่ไม่คิดไปเองล่วงหน้าว่า ลูกทำได้หรือทำไม่ได้ถ้ายังไม่ได้ให้เขาลอง ถ้าพ่อแม่คิดไปก่อนว่าลูกทำไม่ได้ ก็อาจจะไม่ได้ให้ลูกลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา แล้วถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็กำลังตัดโอกาสในการให้ลูก ต่อสู้ เรียนรู้ พัฒนาและเติบโต
นัทชามีพัฒนาการทางร่างกายที่เร็วขึ้นหลังจากได้รับการฝึกให้นอนเอง เพราะมีเวลาเล่นอยู่ในเตียงของตัวเองคนเดียวเลยฝึกทักษะใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพลิกตัว คลาน เกาะยืน เดินในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยโดยไม่มีพ่อแม่มาคอยกังวลและ ช่วยเหลือเกินความจำเป็น นัทชาทำให้เราเห็นว่าเขาสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยตัวเองได้โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องคอยช่วย ครูติ๊กคงจะไม่มีทางรู้เลยถ้าเราไม่ได้ปล่อยให้ลูกลอง
ในฐานะพ่อแม่เราได้เรียนรู้หลายอย่างหลังจากฝึกให้ลูกนอนเอง
- เราเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่น ไว้ใจ และปล่อยให้ลูกแสดงให้เราเห็นว่าเขาทำอะไรได้บ้างโดยไม่คิดไปก่อนล่วงหน้าว่าลูกทำได้หรือทำไม่ได้
- เราเรียนรู้ที่จะ “ปล่อย ” ลูกมากขึ้น พยายามที่จะไม่เป็นพ่อแม่แบบ helicopter (helicopter parents) ที่คอยติดตามและช่วยเหลือลูกจนเกินความจำเป็น จนลูกจะคอยแบมือขอความช่วยเหลือตลอดเวลา
- เราเรียนรู้ว่ามันไม่เป็นไรเลยที่จะปล่อยให้ลูก ลำบากบ้างที่ต้องออกจากกรอบ หรือสิ่งที่คุ้ยเคย (comfort zone) เพื่อที่จะพัฒนาและเติบโต ให้เรียนรู้เวลาที่ “ไม่เป็นไปตามใจฉัน ” จะรับมือกับอารมณ์ของตนอย่างไร
- และสุดท้ายเราเรียนรู้ว่าการให้กำลังใจกันเป็นสูตรลับความสำเร็จที่ทุกคนต้องการไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตามรักลูก ให้โอกาสลูกแสดงความสามารถ เชื่อมั่นในตัวเค้า และเรียนรู้ที่จะปล่อยให้ลูกออกจากสิ่งที่คุ้นเคย เพื่อที่เค้าจะได้พัฒนาและเติบโตนะคะ
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ หรือ โทร 084 515 4151