การเลี้ยงลูก
8 ขั้นตอนช่วยลูกไม่ให้ติดมือถือ
คุณครูที่อินสติ๊งค์ฯ สัมผัสเด็ก ๆ ที่ติดเกมส์ ติดโทรศัพท์ ติด YouTube จนเกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเรียน ปัญหาการเข้าสังคม พูดจากับคนทั่วไปก็ไม่ยอมสบตามาหลายปี ผู้ปกครองหลายท่านไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไรดี เราเข้าใจดีว่าพอเด็ก ๆ เข้าข่าย “ติด” เกมส์หรือสื่อเหล่านี้แล้ว การจะให้เค้าเลิกหรือสอนให้เด็ก ๆ รู้จักควบคุมตัวเอง ควบคุมเวลาในการเล่นเกมส์หรือใช้โทรศัพท์นั้นเป็น “สิ่งที่ยากมาก!” หลายครั้งแต่ละบ้านลงเอยด้วยการทะเลาะกัน และคุณพ่อคุณแม่ต้อง “ยอม” ให้ลูก “ต่อเวลา” เพื่อตัดความรำคาญ
ในมุมมองของติ๊ก เราในฐานะพ่อแม่ต้องเข้าใจผลลัพธ์ของการเสพย์สื่อเหล่านี้และการดูหน้าจอเป็นเวลานาน ๆ ของเด็ก ๆ และรู้ว่าเราจะ “จัดการ” อย่างไรเมื่อลูกใช้เวลากับหน้าจอเกินขอบเขต ก่อนที่ปัญหาจะพอกพูนและแก้ยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
บ้านเราเองพยายามเลี่ยงการให้ลูกเริ่มดูหน้าจอให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันยากเหลือเกินที่จะเลี่ยงโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนโทรศัพท์มือถือจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว ในวัย 2 ขวบกว่าลูกได้เริ่มดูวิดีโอเพลงเด็กเป็นภาษาอังกฤษผ่านมือถือบ้าง เวลาลูกดูมือถือมันเหมือนโดน “สะกดจิต” จ้องจอนิ่ง ตาไม่กระพริบ ใครเรียกก็ไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจ บอกเลยว่าอาการแบบนี้ทำพ่อกับแม่หวั่นใจและกังวลมากว่าถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปโดยไม่ “จัดการ” แล้วคงจะต้องเกิดปัญหาหลากหลายตามมาเป็นแน่
และนี่คือ 8 วิธีที่ติ๊กนำมาใช้กับลูกเพื่อควบคุมเวลาการอยู่กับหน้าจอของเค้าค่ะ จริงอยู่ที่วิธีเหล่านี้ติ๊กใช้กับเด็กวัย 2 ขวบกว่า แต่ด้วยหลักการแล้วคิดว่านำไปใช้กับเด็กวัยอื่นได้เหมือนกัน อยากให้ลองดูค่ะก่อนที่ปัญหาหลาย ๆ อย่างจะตามมาแล้วแก้ยากขึ้น
1. เข้าใจก่อนว่าเดี๋ยวนี้หน้าจอเลี่ยงได้ยากมาก
ใช่แล้วค่ะ ผู้ใหญ่อย่างเราหลาย ๆ คนก็เข้าข่ายติดโทรศัพท์ เพราะมันรวบรวมทุกอย่างไว้ในสิ่งเดียว สะดวก รวดเร็ว ทั้งให้ความบันเทิง ใช้ทำงาน ตอบอีเมล ตอบไลน์คุยกับเพื่อน คุยกับลูกค้า เข้า Facebookใช้เป็นกล้องถ่ายรูป ใช้เล่นเกมส์ โอนเงิน สั่งอาหาร ฯลฯ มันเลี่ยงไม่ได้ เด็ก ๆ เองก็มี application หรือสื่อการสอนที่ผ่านหน้าจอมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงตอนแรกจะไม่ได้ใช้โทรศัพท์ พอโตไปซักนิดก็ต้องใช้ทำการบ้าน หาข้อมูล เริ่มใช้ social media ต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในยุคนี้และในอนาคต คงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลี่ยงการใช้หน้าจอ ติ๊กมองว่าเราต้องสอนลูกว่าจะอยู่กับ gadget ตัวนี้อย่างไร (แทนที่จะเลี่ยงมันโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเหลือเกิน) เพื่อให้มันเป็นประโยชน์มากกว่าให้โทษกับตัวเรา
2. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ต่อหน้าลูก (โดยเฉพาะลูกเล็ก) ลูกเริ่มอยากดูหน้าจอก็เพราะพ่อแม่ พ่อแม่ใช้โทรศัพท์ เล่น Facebook ลูกก็อยากจะรู้ว่าเราทำอะไรกันอยู่นะ สนใจ อยากรู้อยากเห็นบ้าง บางบ้านใช้โทรศัพท์เป็นตัวช่วยในการเลี้ยงลูก ลูกกินข้าวยาก เปิดโทรศัพท์ให้ดูไปกินข้าวไป ได้ผลนี่นา ลูกงอแงไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ เปิด YouTube ให้ดู อุ๊ย นั่งนิ่งเชียว ถ้ายังไม่ได้เริ่ม ก็เลี่ยงเถอะค่ะ ถ้าเริ่มไปแล้ว ก็หาทางเลิกให้เร็วที่สุด เราต้องเริ่มจากการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ส่วนตัวติ๊กเอง ถ้าอยู่กับลูก เล่นกับลูกอยู่จะพยายามไม่หยิบโทรศัพท์ออกมา เพราะหยิบออกมาทีไร ตัวป่วนเป็นต้องมาขอดูวิดีโอตลอด เลยเลือกที่จะเลี่ยง และมานั่งทำงาน เช็คงาน หรือใช้โทรศัพท์ตอนที่ลูกไปโรงเรียนหรือนอนหลับ ให้เวลาที่อยู่กับเค้าเป็นเวลาที่มีค่าและสร้างสรรค์จริง ๆ
3. ทำความเข้าใจกับคนเลี้ยงลูกทุก ๆ คน
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกับปู่ย่าตายายและคนเลี้ยงดูลูกเราทุก ๆ คนให้ปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันเรื่องการดูหน้าจอ เพราะเราไม่ได้อยู่กับลูกตลอด แน่นอนว่าบางทีคนเลี้ยงคนอื่น ๆ ก็เป็นคนหยิบยื่นโทรศัพท์ให้ลูก เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้เด็กเชื่อฟัง อยู่นิ่ง ไม่ซน ยอมกินข้าว ที่บ้านของเราถ้าวันไหนลูกดูหน้าจอถึงลิมิตที่ตั้งไว้แล้วก็จะมีการแจ้งผู้เลี้ยงดูคนอื่น ๆ ว่าวันนี้ไม่มีการให้ลูกดูโทรศัพท์แล้วนะ และถ้าเค้าหวังดีกับลูกเราจริง ๆ ก็ต้องเข้าใจกฏเกณฑ์ที่เราตั้งขึ้นมา ทำตามและหากิจกรรมอย่างอื่นมาเล่นกับลูกแทน
4. เข้าใจถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา
ศึกษาและเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่ตามมาว่าถ้าเด็กในแต่ละวัยดูหน้าจอมากเกินไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ผลลัพธ์ทั้งแบบ short term และ long term เป็นอย่างไร หาข้อมูลว่าเด็กแต่ละวัยควรจะดูหน้าจอไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง ลองอ่านคำแนะนำ นี้ดูเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมกับการใช้หน้าจอของเด็กแต่ละวัยค่ะ
5. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
พอเราหาความรู้และมีข้อมูลว่าเด็กแต่ละวัยควรอยู่กับหน้าจอนานแค่ไหน เราก็สามารถกำหนดเวลาที่เหมาะสมให้ลูกเราได้ ในกรณีของลูกติ๊กวัย 2 ขวบกว่าไม่ควรอยู่กับหน้าจอเกินวันละครึ่งชั่วโมง สิ่งที่ติ๊กทำคือให้ลูกดูได้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 10-15 นาที โดยทุกครั้งจะต้องมีการตกลงกันก่อนว่าถ้าแม่บอกให้เลิกดู ก็คือต้องเลิก ไม่งั้นอด ด้วยความที่เค้ายังเล็กจะบอกเป็นเวลา 10 หรือ 15 นาทีก็ยังไม่เข้าใจ อาจใช้วิธีบอกว่าดูกี่เพลงแทน และคอยเตือนเมื่อใกล้หมดเวลา หรือเป็นเพลงสุดท้ายที่ลูกจะดูได้ พอจบเพลงนี้แล้วต้องหยุดดู เค้าจะได้รู้ตัวว่าใกล้ถึงเวลาต้องเลิกแล้วนะ ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย เข้าใจเรื่องเวลาแล้วก็สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนได้ว่าจากกี่โมงถึงกี่โมง อาจต้องมีการเตือนบ้างว่าเหลืออีก 5 นาที เหลืออีก 10 นาทีต้องเลิกแล้วนะ
6. ยึดข้อตกลงเป็นสำคัญ
เมื่อหมดเวลาที่ลูกจะดูหน้าจอได้แล้ว ลูกก็ต้องเลิกดู เลิกเล่นอย่างที่ตกลงกันไว้ ไม่มีการขอต่อเวลา ผ่อนผัน ผ่อนปรน คุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งและยึดถือกับสิ่งที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก เด็ก 2 ขวบก็เข้าใจค่ะ เราลองมาแล้ว และถ้าลูกไม่ยอมทำตาม เราก็ต้องให้เค้าหยุด เอาเครื่องคืน/ ปิดเครื่อง เพื่อให้เค้าเข้าใจว่าพ่อกับแม่เอาจริงนะ สัญญากันแล้วก็ต้องทำตามที่พูดไว้ มีอยู่แล้วที่ลูกไม่ยอมหยุด ต่อรองขอต่อเวลา นิ่งเฉยไม่ตอบสนอง นั่งดู นั่งเล่นต่อไปเรื่อย ๆ เราก็ต้องเด็ดขาด ลูกอาจมีงอแง โมโห หงุดหงิด ทำนิสัยไม่น่ารัก ก็ต้องคุยกันว่ามันเกินเวลาที่เราตกลงกันไว้แล้ว และทุกคนก็ต้องเคารพข้อตกลง ลูกติ๊กในวัย 2 ขวบกว่า ตอนนี้พอบอกว่าเป็นเพลงสุดท้ายแล้วนะ พอจบเพลง (ส่วนใหญ่) ก็จะปิดเครื่องและส่งโทรศัพท์คืนให้แม่ เราก็ขอบคุณเค้าที่ทำตามและเข้าใจ ปรบมือให้ดัง ๆ ส่วนครั้งไหนที่ไม่ยอมคืน ไม่ยอมหยุด ขอดี ๆ ไม่ยอมให้ ติ๊กก็จะบอกเค้าว่า แม่ต้องปิดแล้วนะลูก และก็ปิดเครื่อง 🙂
7. ดูไปกับลูกด้วย/ รู้ว่ากิจกรรม online ของลูกมีอะไรบ้าง
เดี๋ยวนี้สื่อและเกมส์ online นั้นมีหลากหลายมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องตามลูกให้ทันและรู้ว่ากิจกรรม online ของลูกมีอะไรบ้าง วิดีโอหรือสื่อบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับวัยของพวกเขา มีถ้อยคำและภาพที่รุนแรง น่ากลัว ทุกวันนี้ติ๊กเองเวลาลูกดูหน้าจอจะดูไปด้วยหรืออยู่ใกล้ ๆ ตลอดเพื่อจะได้รับรู้ว่าเค้ากำลังดูอะไรอยู่ เพราะบางทีสิ่งที่โผล่ขึ้นมาใน YouTube ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เราเคยเจอ Peppa Pig เวอร์ชั่นโหด เลือดกระฉูดถูกลิสต์อยู่ต่อจากเพลง Marry had a little lamb ที่ลูกดู ซึ่งเราก็ต้องคอย screen สิ่งพวกนี้ออกไป
8. ใช้เวลาอยู่กับลูก หากิจกรรมอย่างอื่นทำ
ดีที่สุดคือชวนลูกทำอย่างอื่นที่สนุก สร้างสรรค์ ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ้าง ออกไปเล่นเลอะเทอะแบบที่เด็กวัยเค้าควรจะเป็น โยนลูกบอล ต่อบล็อก ต่อ puzzle เล่นทราย วิ่งเล่น อ่านนิทาน ร้องเพลง เต้นด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนในระยะยาว ติ๊กคิดเสมอว่าเมื่อเราตัดสินใจมีลูกแล้ว ยังไงก็เหนื่อย (555) และก็เชื่อว่าเหนื่อยตอนแรกในการปลูกฝังสิ่งที่ดี ๆ ให้กับเค้าดีกว่าไปเหนื่อยตอนหลัง ตอนที่ลูกเริ่มโต เป็นวัยรุ่น มีความคิดเป็นของตัวเองค่อนข้างเยอะ และไม่อยากจะฟังพ่อแม่อีกแล้ว ถึงตอนนั้นความปวดหัวก็จะมากขึ้นทวีคูณค่ะ
เร่ิมฝึกให้ลูกรับผิดชอบและใช้เวลาอยู่กับหน้าจอแบบพอเหมาะ พอควรตั้งแต่วันนี้กันนะคะ
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
โทร 084 515 4151 | Line: @insThink