การเลี้ยงลูก, เกี่ยวกับ insThink
บทเรียนจากการศึกษาแบบฟินแลนด์ – ความเท่าเทียมกัน
“เราต้องทำความเข้าใจ ทำความรู้จักในตัวเด็ก ๆ ทุกคน แล้วปรับการสอนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับความรู้ ได้ฝึกความสามารถให้ได้ “เท่าเทียมกัน” ให้มากที่สุด”
พูดถึงการศึกษาแบบฟินแลนด์ แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงต้องได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง ว่าแต่ว่ามันคืออะไร ดียังไง แล้วเราในฐานะพ่อแม่เอามาประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง
เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา insThink Learning ได้มีโอกาสไปฟังสัมมนา “What the World Can Learn from Edcuational Change in Finland” โดย Pasi Sahlberg ซึ่งเป็นนักการศึกษาชั้นนำของฟินแลนด์และของโลก ผู้เขียนหนังสือ Finnish Lessons 2.0 เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาในฟินแลนด์ ที่บินตรงมาเล่าประสบการณ์, ข้อมูล และความเชื่อ (ที่อาจจะไม่ถูกต้องหรือเป็นความเข้าใจที่ผิด) เกี่ยวกับการศึกษาในฟินแลนด์ให้ฟัง Pasi แชร์มุมมองหลายเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่เราฟังแล้วดีใจมากจนอยากนำมาเล่าต่อเป็นเรื่องแรกคือ “Quality Through Investing in Equity”
แล้วมันคืออะไร หมายความว่าอย่างไรหล่ะ
Equity ถ้าแปลตามความหมาย แปลว่าเท่าเทียมกัน
Quality Through Investing in Equity ก็คือ คุณภาพที่ได้มาจากการลงทุนด้านความเท่าเทียมกัน (ทางการศึกษา)
แล้วอะไรคือความเท่าเทียมกันทางด้านการศึกษาแบบที่ Pasi พูดถึง
มันคือการทำความเข้าใจ ทำความรู้จักในตัวเด็ก ๆ ทุกคน เข้าใจจุดแข็ง จุดที่เด็กแต่ละคนต้องพัฒนา แล้วปรับการสอนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับความรู้ ได้ฝึกความสามารถให้ได้ “เท่าเทียมกัน” ให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนนั้นจะ “Customized/ Personalized” ให้เหมาะกับรายบุคคล เพราะถ้าสอนเด็กทุกคนแบบเดียวกัน เด็ก ๆ แต่ละคนจะได้รับความรู้ไม่เท่ากันแน่นอน
ซึ่งต่างจาก Equality ที่คือการให้แบบเดียวกัน ให้เท่า ๆ กัน เหมือน ๆ กันโดยที่ไม่ได้ดูว่าเด็กคนนั้น ๆ เป็นอย่างไร
ระหว่างที่ฟัง Pasi พูดเรื่อง Equity อยู่ เราอดยิ้มไม่ได้ เพราะมันคือการปฏิบัติที่ครูทุกคนที่ insThink Learning ทำอยู่ เราดีใจมากและมั่นใจยิ่งขึ้นว่าเรามา “ถูกทาง” การเรียนการสอนที่ insThink Learning เน้นคลาสเล็ก คุณครูทุกคนต้องรู้จักเด็ก ๆ ให้ถึงแก่น และเข้าใจว่าวิธีการสอนแบบไหนเหมาะกับเด็กคนไหนเพื่อให้ผลลัพธ์การเรียนของเด็กแต่ละคนออกมาดีที่สุด
เราเชื่อว่าเรื่องนี้คุณพ่อคุณแม่นำไปใช้ได้ที่บ้านเช่นกัน โดยเริ่มจาก:
- ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจลูกเราให้มากที่สุด จุดเด่นของเขาคืออะไร อะไรที่ต้องพัฒนา
- ลูกชอบอะไร การเรียนแบบไหนที่จะทำให้ลูกสนุกและช่วยให้เค้าพัฒนาได้ดีขึ้น
- ลูกเรียนรู้ได้ดีจากการฟังหรือจากการอ่าน
- การเรียนการสอนที่โรงเรียนของลูกเหมาะกับลูกของเราไหม
- ลูกไม่กล้าแสดงออกเพราะอะไร ลูกกลัวที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะอะไร อะไรที่ทำให้ลูกไม่มั่นใจ
- เตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเด็ก/ ลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะคาดหวังสิ่งเดียวกันจากพวกเขาไม่ได้
- ก่อนที่จะคิดว่าทำไมลูกถึงทำไม่ได้ ลูกถึงไม่สนใจฟังสิ่งที่เราพูด ลองกลับมาถามตัวเองก่อนว่าวิธีการที่เราสื่อสารกับลูกมันถูกจริตและทำให้เขาสนใจหรือเปล่า
- ฯลฯ
หนึ่งในวิธีการที่จะทำความรู้จักลูกเพิ่มขึ้นก็คือ “การฟัง” ตั้งใจฟังทั้งสิ่งที่เค้าพูดและสิ่งที่เค้าไม่ได้พูดออกมา ถามคำถามลูกเพื่อให้ลูกแสดงความคิดเห็น แชร์ไอเดีย หลีกเลี่ยงการใส่ความคิดเห็นของเราไปก่อน เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าให้เราฟัง
วันนี้คุณรู้จักลูกดีพอหรือยัง?
ครั้งหน้าจะมาเล่าเรื่องการศึกษาแบบฟินแลนด์ทั้งหมดที่ได้ฟังมาจาก Pasi Sahlberg อีกทีค่ะ เร็ว ๆ นี้ 🙂
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
โทร: 084 515 4151 | Line: @insThink