การเลี้ยงลูก, เกี่ยวกับ insThink
7 ขั้นตอนสอนลูกให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา
มาช่วยกันทำสังคมให้น่าอยู่ขึ้น ด้วยการสอนให้ลูกรู้จัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
การเอาใจเขามาใส่ใจเราไม่ใช่สิ่งที่เด็กทุกคนมีหรือขาดมาแต่กำเนิด แต่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ช่วยสร้างและพัฒนาด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้ลูกได้เรียนรู้และฝึกฝน แล้วทำไมเราต้องมาสอนเรื่องนี้กัน มีเหตุผลดี ๆ 3 ข้อที่อยากจะมาเล่าให้ฟังค่ะ
เด็กที่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา…
1. สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาสังคมที่ยาก ๆ ได้ดีกว่าคนอื่น
2. มีโอกาสน้อยกว่าที่จะแกล้ง กดขี่ข่มเหงคนอื่น (bullying) และมีแนวโน้มที่จะเข้าไปช่วยเพื่อนที่ถูกคนอื่นแกล้ง
3. มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวได้ง่ายและมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี
ติ๊กได้หาข้อมูลมาจากหลายแหล่งและสรุป 7 ขั้นตอนที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้ไม่ยาก เพื่อจะเริ่มฝึกให้ลูกเข้าใจอารมณ์ตัวเองและปลูกฝัง Empathy ให้แก่พวกเขา ต้องขออภัยล่วงหน้าที่มีการใช้คำว่า Empathy ทับศัพท์อยู่ในเนื้อหาบ้าง เพราะแปลเป็นไทยจริง ๆ ก็ไม่ตรงตัวซะทีเดียว
1. แสดง Empathy ให้ลูกเห็น การสอนเรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ที่ดีที่สุดคือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อลูกเห็นพ่อแม่แสดง Empathy เด็ก ๆ จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นไปด้วย เช่น อุ้มลูกขึ้นมาเมื่อเขาล้มลง ถามลูกว่ารู้สึกอย่างไร คอยฟังลูก แสดงให้ลูกเห็นว่าเรารับรู้ว่าลูกรู้สึกแบบนั้น แทนที่จะเดินหนีเมื่อลูกอาละวาด ตั้งสติ นิ่ง และคุยกับลูกเมื่อลูกเย็นลง เมื่อลูกเห็นว่าพ่อแม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ยาก ๆ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เขาจะคุ้นชิน ซึมซับการกระทำเหล่านั้นของพ่อแม่ และเรียนรู้ที่จะทำตาม และเมื่อเจอเหตุการณ์ที่มีคนเศร้าโศกเสียใจในหนังสือ ทีวี หรือในชีวิตจริง ก็หยิบเรื่องเหล่านั้นมาคุยกับลูกได้เช่นกัน
2. อย่าละเลยความรู้สึกของลูก เด็กมีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเมื่อคนที่บ้านไม่ละเลยความรู้สึกของพวกเขา จริงอยู่ที่การเลี้ยงลูกนั้นเหนื่อย และอารมณ์ของเด็ก ๆ มีขึ้นมีลง แต่อย่าปล่อยให้ลูกรู้สึกว่าเขาโดนทอดทิ้ง ลูกต้องรู้สึกว่ามีคนรับฟังและช่วยเหลือเขาเมื่อหลาย ๆ อย่างมันดูยากเกินไปที่เขาจะจัดการด้วยตัวเอง เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยขณะอยู่กับพ่อแม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ให้ “ความรู้สึกปลอดภัย” เป็นของขวัญสำหรับลูก
3. ฝึกลูกให้แยกแยะอารมณ์เป็น ช่วยลูกเข้าใจอารมณ์ของพวกเขา ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อที่ลูกจะได้เชื่อมโยงความรู้สึกของพวกเขาเข้ากับคำพูดได้ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นถ้ายังไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกได้ทั้งตอนอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือนำเหตุการณ์รอบตัวมาพูดคุย ให้ลูกสังเกตสีหน้าและท่าทาง และฝึกแยกแยะความรู้สึกดู
4. มอบหมายหน้าที่ให้ลูก เด็กที่มีหน้าที่ มีงานที่ต้องรับผิดชอบ มีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ให้ลูกได้ทำงานบ้าน เช่น คอยดูแลสัตว์เลี้ยง มีส่วนร่วมกับการทำงานการกุศลของครอบครัว เมื่อพ่อแม่สอนลูกเรื่องความรับผิดชอบ ลูกจะเรียนรู้ที่จะนึกถึงผู้อื่น
5. อย่าแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง เพราะเมื่อพ่อแม่ทำอย่างนั้น เรากำลังขโมยโอกาสให้ลูกฝึกทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างใหญ่หลวง สอนให้ลูก หยุด-คิด-ทำ หยุด: เพื่อประเมินสถานการณ์และไตร่ตรองว่าปัญหาคืออะไร คิด: ว่ามีทางเลือกหรือทางออกอะไรบ้าง เช่น ถ้าหนูแบ่งของเล่นให้เพื่อน จะทำให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นไหม ทำ: เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดและลงมือทำ เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเอง พวกเขามีแนวโน้มที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อนหรือพี่น้องเมื่อพวกเขาต้องการ
6. สอนให้ลูกรู้ว่าเรามีอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างกับคนอื่นบ้าง พาลูกออกไปข้างนอก พบปะผู้คน ให้เขาได้เห็นว่าคนเรามาจากพื้นฐานที่ต่างกัน ชีวิตของคนที่อยู่ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่เหมือนกับเรา ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทุกคนมีทั้งสิ่งที่เหมือนและแตกต่างกัน
7. สอนให้ลูกอยากช่วยเหลือผู้อื่นจากใจ โดยไม่คำนึงถึงรางวัลหรือกลัวการทำโทษ แต่ให้ทำจากใจที่อยากทำจริง ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ใช้วิธีพูดคุยกับลูก อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงผลลัพธ์ของการกระทำ อย่าใช้แต่การทำโทษ หรือการขู่ที่จะทำให้ลูกหวาดกลัว อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำของเขาทำให้เกิดผลอะไรขึ้นกับคนอื่นบ้าง
การเอาใจเขามาใส่ใจเราคือการเคารพความรู้สึกของผู้อื่น สิ่งที่จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คือการที่พ่อแม่เข้าใจ รับฟัง และแสดงให้ลูกเห็นว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา ไม่ใช่พยายามแก้ปัญหาให้ลูก การบอกให้ลูกอย่ารู้สึกแบบนั้น แบบนี้ ไม่ได้ช่วยอะไรลูกเลย ความรู้สึกเกิดมาจากข้างใน การที่เราบอกลูกว่า อย่าเศร้าไปเลย อย่าโกรธเลยลูก หรือ ลูกอ่อนไหวไปหรือเปล่า มีแต่จะทำให้ลูกรู้สึกเศร้า เสียใจ โมโหมากขึ้น เพราะเขารู้สึกโดดเดี่ยว พ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า “แม่เข้าใจที่ลูกหงุดหงิด ถ้าเป็นแม่ก็คงหงุดหงิดเหมือนกับลูก” ให้ลูกได้รับรู้ว่าเราเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา
พ่อแม่ไม่สามารถช่วยลูกจากความรู้สึกเสียใจ โกรธ ผิดหวัง หรือเศร้าได้ อารมณ์เหล่านี้เป็นสิ่งปกติ แต่การที่พ่อแม่เข้าใจ และแสดงให้ลูกเห็น ลูกจะไม่รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว และทำให้พ่อแม่กับลูกใกล้ชิดกันมากขึ้น เด็กที่ได้รับการเห็นอกเห็นใจจะค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะบริหารอารมณ์ลบ ๆ ในทางที่ดี และได้สั่งสมความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอีกด้วย
แหล่งที่มา:
https://www.parentingscience.com/teaching-empathy-tips.html
https://www.psychologytoday.com/us/blog/peaceful-parenting/201812/the-secret-teaching-child-empathy
https://www.scarymommy.com/teach-my-child-empathy/
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ หรือ โทร 084 515 4151