การเลี้ยงลูก
4 วิธีสอนลูกให้เอาชนะปัญหา ไม่รู้จักผิดหวัง ชีวิตอาจพังทลายได้
คุณกำลังทำให้ลูกไม่สามารถเอาตัวรอดต้วยตัวเองได้หรือเปล่า? กำลังทำทุกอย่างแทนลูกไปไหม? ทำให้ลูกสมหวังไปซะทุกอย่างหรือเปล่า? แล้วถ้าลูกเราเป็นอย่างนี้ไปจนโตจะเกิดอะไรขึ้น? เมื่อเจอกับปัญหาแล้วก็บอกว่า “ไม่รู้จะแก้ยังไง มันยากเกินไป”
ไม่ปล่อยให้ลูกเจอกับความผิดหวัง (บ้าง) อาจจะทำให้ชีวิตลูกพังทลายเลยก็ได้
ชีวิตคนเราจะเจอปัญหาทุกวัน มีโจทย์ที่ต้องแก้ทุกวัน แล้ววันนี้เราได้สอนให้ลูกเราเอาชนะปัญหา หรือ อะไรก็บอกว่าทำไม่ได้ไว้ก่อน
One of the habits of highly successful person is TO HANDLE FAILURES.
หนึ่งในทักษะที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับคนที่จะประสบความสำเร็จ คือ ความสามารถในการรับมือกับความล้มเหลว, ความผิดหวัง, หรือปัญหา
เราได้เห็นข่าวที่สะเทือนใจมาก 2 ข่าวในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดจากการที่เด็กไม่สามารถรับมือกับความล้มเหลวได้
ข่าวแรกเป็นเด็กจากประเทศอินเดียคนหนึ่งที่เรียนเก่งมาก ๆ วิทยาศาสตร์นี่ได้ 100% เป็นว่าเล่น เรียนจนไปสอบ IIT (สอบวัดผลที่ประเทศอินเดีย) และได้จบคณะ MBA ที่ University of California จากนั้นก็ได้งานที่ดีมาก ๆ ที่อเมริกา มีบ้านหลังใหญ่และรถหรูขับ ได้แต่งงานและสร้างครอบครัว แต่ทุกสิ่งล้วนไม่จีรัง เขาถูกปลดออกจากบริษัทเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ถึงแม้จะหางานใหม่เท่าไหร่ก็หาไม่ได้ ลดเงินเดือนก็แล้ว ก็ยังไม่มี สุดท้ายต้องเสียบ้านและรถคันงามไป ท้ายที่สุดเขาได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเอง, ภรรยา, และลูก T_T
ข่าวที่สองเป็นนักกีฬาฟุตบอลในประเทศอังกฤษ เป็นทีมเยาวชนของแมนซิตี้ แน่นอนทุกอย่างย่อมมีการแข่งขัน โดยเฉพาะระดับสโมสรระดับโลกแบบนี้ ท้ายที่สุดมีนักกีฬาเยาวชนคนหนึ่งผิดหวังที่ตนไม่สามารถเดินหน้าต่อในทีมได้ จึงตัดสินใจจบชีวิตการค้าแข้งและของตนเองลง อย่างน่าสลด
ข่าวทั้ง 2 ข่าวเป็นอุทาหรณ์ที่น่าสลดเกี่ยวกับความผิดหวัง โดยที่บางคนเติบโตมากับความสำเร็จ, สมหวัง, ได้ดั่งใจไปทุกอย่าง พอเผชิญเข้ากับความลำบากหรือความผิดหวัง ก็รับมือไม่ไหว ดังนั้นทักษะของคนประสบความสำเร็จ คือ สามารถรับมือกับความล้มเหลวได้ เราต้องเริ่มสอนทักษะการเอาตัวรอดนี้ให้กับลูกเราให้เร็วที่สุดครับ
4 ขั้นตอนในการสร้างอุปนิสัยในการเอาชนะความล้มเหลว
1. อย่ากลัวปัญหา ผิดหวังได้ ไม่ได้ดั่งใจได้ ไม่ต้องได้ไปซะทั้งหมด
พ่อแม่ต้องไม่ Helicopter Parenting หรือเลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ทำให้ลูกรู้จักกับปัญหา รับผิดชอบในผลลัพธ์ของปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วฝึกแก้ไขมันไป ให้ลูกผิดหวังได้ ไม่ได้ดั่งใจได้ ไม่ต้องได้ไปซะทั้งหมด จะขี่จักรยานให้เป็น มันก็ต้องล้มให้เป็น สิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ เตรียมสิ่งแวดล้อม (สถานที่ปั่น) หรือ หาทางส่งเสริมให้ลูกมั่นใจในการ “ล้มแล้วลุก” ไม่ใช่ล้มแล้วยอมแพ้ไปเลย (อุปกรณ์ป้องกันเข่า, ศอก, หัว)
ในชีวิตคนเราจะเจอปัญหาทุกวัน มีวันไหนไหมที่เราไม่เจอปัญหาเลย สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ แก้ไขและรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถหนีปัญหาได้ เราก็เริ่มฝึกเทคนิคการแก้ไขปัญหากันดีกว่า
2. พ่อแม่ต้อง อึ๊บ! ระวังอย่าเพิ่งทำอะไรด้วยอารมณ์
“High Emotion, Low Inteligence” เมื่ออารมณ์ร้อน ความฉลาดเราจะด้อยลงเสมอ เรามีสติในการแก้ไขปัญหาในการทำงานฉันใด เราก็ต้องปฎิบัติกับลูกฉันนั้น เมื่อลูกทำอะไรผิดพลาด เกิดอารมณ์หงุดหงิด การที่เราไปตะคอกใส่เขาด้วยอารมณ์จะเป็นการสร้างผลกระทบที่ไม่ดีและอาจจะฝั่งอยู่ในจิตใต้สำนึกของลูกเลยด้วยซ้ำ หรือ ถ้าลูกโตแล้ว เขาจะเมินเฉยสิ่งที่เราพูด แล้วอาจจะสวนกลับจนเราเสียใจเลยก็เป็นได้
ข้อนี้ก็ท้าทายพ่อแม่ไม่น้อยเลย เพราะว่าเราเหนื่อยมาทั้งวัน แล้วยังต้องมาอารมณ์เสียกับลูกอีก ผมเข้าใจครับ (เพราะว่าก็ต้องต่อสู้กับตัวป่วนที่บ้านเหมือนกัน) แต่เราก็ต้อง อึ๊บ! ไว้ครับ จิกตัวเองไว้ก่อนครับ อดทนไว้ ใจเย็น ๆ คิดถึงสิ่งดี ๆ ที่ทำให้เราคลายเครียด ถ้าคิดไม่ออกอย่าเพิ่งคุย เพราะว่าจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ดีหนักกว่าเดิม อารมณ์นี่แหละจะเป็นตัวตัดสินวิธีการเลี้ยงลูกของเรา เพราะบอกตรง ๆ นะครับ เราเป็นอย่างไร ลูกเราก็เป็นอย่างนั้นครับ ถ้าเมื่อเผชิญปัญหา แล้วอารมณ์เรามาเต็ม ลูกเราก็จะทำแบบเดียวกับเราครับ
3. สรุปและวิเคราะห์การกระทำด้วย Debrief Process
คนเราจะเรียนรู้ได้ดีที่สุด เมื่อคิดหาทางออกด้วยตัวเอง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีแรงกดดันในระดับที่พอเหมาะ (ไม่ใช่ไม่มีแรงกดดันเลย หรือ กดดันมากไปก็ไม่ดี) พอปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว เราต้องหาเวลาที่ลูกมีสมาธิที่สุด เช่น ช่วงก่อนนอน แล้วลองคุยกับลูกด้วย Debrief Process ซึ่งเป็นการถามเด็ก ๆ ให้เค้าตอบให้มากที่สุด โดยที่คนถามจะต้องไม่บอกคำตอบหรือบอกให้น้อยที่สุด!!! วิธีนี้พูดง่าย แต่ทำยากมาก เพราะว่าต้องใช้เวลาคุยนานกว่าที่เราบอกคำตอบให้กับเขา ถ้าเราตอบให้เขา คิดแทนเขา สุดท้ายเขาจะคุ้นชินกับการไม่คิดและใช่แต่คำว่า “ไม่รู้” ในทุก ๆ เรื่อง
ขั้นตอน Debrief Process มีดังนี้:
- เกิดอะไรขึ้นบ้าง -> เพื่อให้เขาคิดทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ความจริงเป็นอย่างไร
- มีสิ่งที่ดี ผลลัพธ์ที่ดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง -> เพื่อให้ลองวิเคราะห์ ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นมีข้อดีอย่างไรบ้าง เช่น ทำไปแล้วสะใจ สบายใจ, ไม่รู้สึกอะไร หรือ ก็ดี
- จะทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาแบบเดิมเกิดขึ้นอีก -> เพื่อให้เขาลองคิดหาทางออกว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาแบบเดิม ๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นการเตือนอ้อม ๆ ว่าอย่าให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก
- จะรับมืออย่างไร ถ้าปัญหาแบบเดิมเกิดขึ้นอีก -> บอกตรง ๆ นะครับ ปัญหาเดิม ๆ ก็คงจะเกิดขึ้นอีก จุดประสงค์คือเขาต้องคิดว่าจะรับมือหรือรับผิดชอบอย่างไร แล้วก็ต้องตามนั้นจริง ๆ คับ
4. เริ่มให้เร็วที่สุด เริ่มวันนี้ดีกว่าเริ่มพรุ่งนี้
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก สุดท้ายเราอาจจะไม่ต้องดัดไม้เลยก็ได้ ถ้าเราวางรางฐานทางความคิดให้ดี เขาจะได้เติบโตเข้าหาแสงได้ด้วยตนเอง (อาจจะต้องช่วยบ้างนิดหน่อย) ยิ่งโต ยิ่งท้าทายมากขึ้นในการปรับเปลี่ยนอุปนิสัย ปล่อยให้เขามีความเคยชิน มีนิสัย มาหลายปี ย่อมใช่เวลามากกว่าในการปรับให้พัฒนามากขึ้น
“โค้ชที่ดีที่สุดของลูก ๆ คือ พ่อและแม่” เราต้องสร้างอุปนิสัยที่จะส่งเสริมให้ลูกเราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ รู้จักเผชิญกับปัญหา รู้จักคิดถึงผลลัพธ์ที่ตามมา รู้จักเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักคิดวิเคราะห์ว่าอะไรควรไม่ควร พ่อแม่ท่านไหนได้ลองแล้วเป็นไงกันบ้าง ลองมาพูดคุยกันได้นะครับ
แวะมาพูดคุยกับพวกเราชาวอินสติ๊งค์ฯ
ได้ที่ อินสติ๊งค์ เลิร์นนิ่ง (insThink Learning)
ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์ โซน Genius Planet
ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ หรือ โทร 084 515 4151 | 080 459 4151